พ.ศ. 2399

กระดาษลูกฟูกหรือเรียกว่า Corrugated Board เป็นที่รู้จักครั้งแรก และได้รับการจดสิทธิบัตรเป็น วัสดุรองทรงของหมวกทรงสูงของสุภาพบุรุษอังกฤษในสมัยวิกตอเรียโดยชาวอังกฤษ 2 คนคือ Mr. Haeley และ Mr. Allen

พ.ศ. 2414

กระดาษลูกฟูกถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ครั้งแรกคือใช้สำหรับห่อไส้ตะเกียงแก้วและตะเกียง น้ำมันก๊าด และในปีเดียวกันนั้นชาวอเมริกันนาม Mr. Albert L. Jones ใช้กระดาษลูกฟูกห่อของที่บอบบาง เช่นขวดแก้วและได้รับสิทธิบัตรจากการใช้กระดาษลูกฟูกห่อของ

พ.ศ. 2417

เครื่องผลิตกระดาษลูกฟูกที่สามารถผลิตกระดาษได้คราวละมากๆ ได้ถูกคิดค้นขึ้นพร้อมกันในปีนี้ Mr. Oliver Long ชาวอเมริกันได้พบว่า หากมีการแปะกระดาษเรียบเข้ากับอีกด้านของลอนกระดาษนอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้ลอนยืดแล้วยังเพิ่มความแข็งแกร่งให้กระดาษลูกฟูกได้อีก ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ Mr. Robert Gair ช่างพิมพ์ชาวสก็อตแลนด์ในกรุงนิวยอร์กได้บังเอิญพบวิธีทำกล่องกระดาษลูกฟูกโดยบังเอิญ ขณะที่กำลังทำถุงใส่เมล็ดพันธุ์พืชให้ลูกค้าเขาพบว่าแค่ตัดและทับเส้นพับถุงกระดาษก็จะกลายเป็นกล่องอย่างง่ายดาย และเมื่อมีการคิดค้นกระดาษลูกฟูกออกมา วิธีที่เขาค้นพบถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทันที

พ.ศ. 2437

    กระดาษลูกฟูกถูกนำมาตัดและเซาะร่องเพื่อทำเป็นกล่องครั้งแรก Mr. Wells Fargo เริ่มใช้กล่องกระดาษลูกฟูกบรรจุสินค้าชิ้นเล็กๆ ในการขนส่ง

พ.ศ. 2438

    เครื่องผลิตกระดาษลูกฟูกแบบต่อเนื่องเครื่องแรกถูกพัฒนาขึ้น โดย Mr. Fefferson T. Ferres Sefton Manufacturing Co.,Ltd.และนำไปสู่การสร้างสรรค์เครื่องผลิตกระดาษลูกฟูกอีกจำนวนหลายรายในช่วงสิบปีนี้

พ.ศ. 2438

        กระดาษลูกฟูกได้รับการยอมรับตามกฎหมายว่าเป็นวัสดุเพื่อการขนส่ง โดยถูกใช้ในการขนส่งธัญพืชอบกรอบ (ซีเรียล)

กระดาษลูกฟูกในประเทศไทย

นับจากครั้งแรกเมื่อมีกระดาษลูกฟูกของโลกจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 150 ปี แต่สำหรับเมืองไทยกระดาษลูกฟูกเพิ่งเป็นที่รู้จักสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2485) ดังนั้นอายุของกระดาษลูกฟูกในบ้านเราน่าจะอยู่ที่ 70 ปี เมื่อมีการเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
กระดาษลูกฟูกเดินทางเข้ามาพร้อมกับสินค้าที่สั่งเข้ามาขายในประเทศนั่นเอง ยุคนั้นความคิดเรื่องหีบห่อเพื่อความสวยงามยังไม่ถูกพัฒนา กระดาษลูกฟูกเป็นเพียงวัสดุห่อหุ้มสินค้าป้องกันการแตกหักในการขนส่ง เมื่อสินค้าเดินทางถึงที่หมายเรียบร้อย กระดาษลูกฟูกถูกแกะออก ก็มีคนหัวใส คิดว่าน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก จากกล่องใบใหญ่ก็เอามากลับด้าน ย่อให้ใบเล็กลงกระดาษลูกฟูกที่ยังไม่ชำรุดมากนัก ก็นำมาตัดทำกล่องใบเล็กใบน้อย ด้วยวิธีการของใครของมัน ซึ่งคงไม่แตกต่างกันมาก เพราะกล่องต้นแบบที่มาจากต่างประเทศก็หน้าตาเหมือนๆ กัน

    สมัยนั้นกระดาษลูกฟูกเป็นที่รู้จักกันในชื่อ กระดาษลัง คนไทยเรียกกล่องใส่ของว่าลังกระดาษที่ใช้ทำลังจึงถูกเรียกตามความเข้าใจง่ายๆว่า “กระดาษลัง” 

    กระดาษลังหาง่ายตามย่านการค้า และท่าเรือส่งสินค้า สมัยนั้น อาชีพรับซื้อของเก่ายังไม่แพร่หลาย ใครอยากได้กระดาษลังที่ว่านี้ ก็ต้องไปคอยรับซื้อจากต้นทางได้เลย แหล่งกระดาษลังใหญ่ๆ อยู่ที่แถวสำเพ็ง และพระประแดง ซึ่งมีเจ้าประจำคอยรับซื้อเพื่อเอาไปทำกล่องลังจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง 

    โรงกล่องลังเก่าแก่ที่สุดของไทยที่ยังหาข้อมูลกันได้นั้น หลายคนบอกว่าคือ เฮ่งเซ่งหลี ตั้งอยู่แถวจักรวรรดิ ซึ่งเป็นย่านการค้าเก่าแก่ และหาซื้อกระดาษลูกฟูกมือสองได้ไม่ยาก 

     เถ้าแก่เลี้ยกคุ้ย แซ่เฮ้ง เจ้าของกิจการของเฮ่งเซ่งหลี ในตอนแรกนั้นทำกล่องเพื่อใช้สำหรับกิจการภายในสำหรับขายน้ำมันใส่ผมและเครื่องสำอางยี่ห้อ เฮ่งเซ่งหลี ก่อนจะหันมาจับธุรกิจกล่องอย่างเดียว 

    

    เฮงเซ่งหลี นับเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำกล่องจากแผ่น กระดาษลูกฟูก เริ่มต้นประมาณในช่วงปี 

พ.ศ. 2492 ตั้งอยู่หลังโรงพัก จักรวรรดิ โดยป้ายทองเหลือง “เฮ่งเซ่งหลี” เป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่จะเล่าเรื่องราวของกล่องกระดาษลูกฟูกได้ดี

     ปัจจุบันกิจการของเฮ่งเซ่งหลีเปลี่ยนมือมาเป็นรุ่นทายาทคือ คุณสุขุม รุ่งเจริญสุขศรี แห่ง บริษัท เอชเอสแอล คาร์ตอนส์